ประวัติการก่อตั้ง สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ส.ส.ม.ท.)

                    เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นการปราบปรามประชาชนจากรัฐบาลในขณะนั้น หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ภาคประชาชนและองค์กรสื่อมวลชน มีความพยายามที่จะขับเคลื่อนปฏิรูปการควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาของสื่อมวลชนจากภาครัฐที่เกิดขึ้นในยุคก่อนหน้า จนเกิดเป็นแนวทางในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ที่เป็นอิสระแห่งแรกของประเทศไทย (ซึ่งภายหลังคือสถานีโทรทัศน์ ITV)

                    ในการนี้ กลุ่มนักวิชาการสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ได้รับการเชิญเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปด้านเสรีภาพสื่อมวลชน จึงเกิดการประชุมของคณาจารย์นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2535 นำโดย รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อการก่อตั้งสื่อที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนในประเทศไทย

                    โดยในการประชุมครั้งนั้น มีตัวแทนคณะด้านสื่อสารมวลชนเข้าร่วมจาก 12 สถาบัน ประกอบด้วย

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  • มหาวิทยาลัยหอการค้า
  • มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ
  • วิทยาลัยโยนก
  • สถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก)
  • วิทยาลัยเซนต์จอห์น

                    ผลของที่ประชุมในวันนั้น ได้มีมติให้จัดตั้ง “สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย” หรือชื่อย่อว่า “ส.ส.ม.ท.” ดังนั้นวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2535 จึงถือเป็นวันก่อตั้ง ส.ส.ม.ท. โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ เป็นประธาน ส.ส.ม.ท. คนแรก และมีวัตถุประสงค์เบื้องต้น 7 ข้อคือ

  1. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน
  2. ส่งเสริมความเป็นเอกภาพและความร่วมมือระหว่างนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
  3. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านสื่อสารมวลชนระหว่างสถาบันการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน
  4. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาสื่อสารมวลชนกับสถาบันสื่อมวลชนแขนงต่างๆ
  5. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนทุกแขนง เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามหลักวิชาชีพในกรอบจรรยาบรรณและความรับผิดชอบอย่างแท้จริง
  6. ส่งเสริมในการแสวงหาข่าวสารและการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และสิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชน
  7. ทำหน้าที่ในการสอดส่อง ประเมินคุณภาพงานด้านสื่อสารมวลชน เพื่อประโยชน์สาธารณะ

                    หลังจากนั้น มีการประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนักวิชาการเข้าร่วมประชุมเพิ่มเป็น 16 สถาบัน และมีสมาชิกรวม 38 คน เป็นการลงมติเกี่ยวกับธรรมนูญและข้อกำหนดต่างๆของ ส.ส.ม.ท. ได้ข้อกำหนดเป็นวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อคือ

  1. ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนพัฒนาการด้านการศึกษาวิชาชีพ
  2. ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ตลอดจนแสวงหาการรับรู้ของประชาชน
  3. ส่งเสริม ศึกษา วิจัย และเสนอแนะนโยบายสื่อสารมวลชนเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน

 

                    การประชุมครั้งที่ 3 คือวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 เป็นการลงมติเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร และมีการแถลงข่าวการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีสมาชิกรวม 19 สถาบัน หลังจากนั้น ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2537 ได้มีการจดทะเบียน ส.ส.ม.ท. ในรูปแบบสมาคม โดยมีรายชื่อกรรมการบริหาร ส.ส.ม.ท. ชุดแรก ดังนี้

  1. รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษณ์
                นายกสมาคม
                คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. อาจารย์จำนง กุมาลย์วิสัย
                อุปนายกสมาคม
                คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  3. ดร.มานิต บุญประเสริฐ
                อุปนายกสมาคม
                คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  4. รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี
                เลขานุการ
                คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  5. อาจารย์ยุพดี ฐิติกุลเจริญ
                เหรัญญิก
                คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  6. อาจารย์สุทรรศิกา คูรัตน์
                ปฏิคม
                คณะนิเทศศาสตร์ วิทยาลัยเซนต์จอห์น
  7. ดร. ผกาพันธ์ ภูมิจิตร
                นายทะเบียน
                คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก)
  8. รศ.ดร.สุรัตน์ เมธีกุล
                ประชาสัมพันธ์
                คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  9. รศ.สมควร กวียะ
                ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ
                คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  10. อาจารย์ฉอ้าน วุฑฒิกรรมรักษา
                ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมวิชาชีพและจรรยาบรรณ
                สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  11. ผศ.ดร.จินตนา มณเทียรวิเชียรฉาย
                ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภคข่าวสาร
                คณะนิเทศศาสตร์ วิทยาลัยเซนต์จอห์น
  12. ดร. นิรันตร์ จิวะสันติการ
                ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน
                คณะนิเทศศาสตร์ วิทยาลัยโยนก
  13. อาจารย์ธาริณี รอดสน
                รองเลขานุการ
                คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

                   นโยบายที่ ส.ส.ม.ท. ขับเคลื่อนในช่วงแรกมีดังนี้

  • เสนอให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 15 เรื่องการบังคับ ควบคุม ให้สถานีวิทยุทุกแห่งมีการถ่ายทอดข่าวจากรัฐ
  • เสนอให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 17 เกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชน

                    จากนั้น ส.ส.ม.ท. ได้มีการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และพันธกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการให้บริการทางวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ เพื่อส่งเสริมและสร้างสรรค์กิจกรรมด้านวิชาการของการสื่อสารมวลชน สร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมาจนถึงปัจจุบัน

Scroll to Top