ข้อบังคับ ส.ส.ม.ท.
ข้อบังคับ
สภาสถาบันนักวิชาสื่อสารมวลชนแห่งประเทสไทย
พ.ศ. 2535
แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2552
หลักการ
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขข้อบังคับ สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2535 เพื่อดำเนินงานส่งเสริม วิจัย และพัฒนาเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชนในประเทศไทย ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติบรรลุผลสำเร็จได้ และเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของมูลนิธินักวิชาการสื่อสารมวลชนไทยจึงเห็นควรมีการแก้ไขข้อบังคับสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสานมวลชนแห่งประเทศไทย
หมวดที่ 1
ชื่อ เครื่องหมาย และสำนักงานที่ตั้ง
ข้อ 1 สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่ตั้งเพื่อการทำงานร่วมกันของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด มีชื่อย่อว่า “ส.ส.ม.ท.” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Council of Mass Communication Faculty Members of Thailand ใช้อักษรภาษาอังกฤษว่า “C.M.C.T.” ซึ่งในข้อบังคับนี้จะเรียกชื่อย่อว่า ส.ส.ม.ท.
ข้อ 2 เครื่องหมาย มีองค์ประกอบดังนี้ นกพิราบ หมายถึง เสรีภาพในการสื่อสาร หนังสือ หมายถึง ความรู้ วิชาการด้านสื่อสารมวลชน เส้นโค้งเป็นวงกลมสองเส้น หมายถึง ภารกิจด้านสื่อสารมวลชนที่กว้างไกลไปสู่สังคม สื่อความหมายถึงภารกิจของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนในการส่งเสริมความรู้ เสรีภาพ จริยธรรม วิชาการ วิชาชีพ ด้านสื่อสารมวลชน กว้างไกลไปสู่สังคมไทยทุกภาคส่วน
ข้อ 3 สำนักงานของ ส.ส.ม.ท. ตั้งอยู่ที่มูลนิธินักวิชาการสื่อสารมวลชนไทย
หมวดที่ 2
วัตถุประสงค์
ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของ ส.ส.ม.ท. มีดังต่อไปนี้
(1) ส่งเสริมความร่วมมือ การแลกเปลี่ยน การพัฒนาทางด้านการศึกษา วิชาชีพ และจรรยาบรรณสื่อสารมวลชน
(2) ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนการแสวงหาและการรับรู้ข่าวสารของประชาชน รวมทั้งพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชน
(3) ส่งเสริมการศึกษา วิจัย และเสนอแนะนโยบายสื่อสารมวลชนเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน
(4) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในด้านสื่อสารมวลชน
(5) ดำเนินการด้านสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์อื่นๆ
หมวดที่ 3
สมาชิก
ข้อ 5 สมาชิก ส.ส.ม.ท. ประกอบด้วยดังนี้
(1) สมาชิกสามัญ ได้แก่ คณาจารย์ประจำหรือผู้บริหารคณะที่สอนด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อมวลชน ทั้งของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน ที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) ซึ่งได้ยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิก ผ่านการรับรองและเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารฯแล้ว
(2) สมาชิก
2.2 อาจารย์พิเศษของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งได้ยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิก ผ่านการรับรองและเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารฯแล้ว
2.3 นักวิชาการสื่อสารมวลชนอิสระ ซึ่งได้ยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกผ่านการรับรองและเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารฯแล้ว
2.4 อาจารย์ประจำในคณะวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชน ของสถาบันอุดมศึกษาในสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) ซึ่งได้ยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิก ผ่านการรับรองและเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารฯแล้ว
(3) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลที่คณะกรรมการบริหารฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เชิญเข้ามาเป็นสมาชิก
(4) สมาชิกนักวิชาชีพสื่อสารมวลชน ได้แก่ นักวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่มีสังกัดและปฏิบัติงานประจำองค์กรสื่อสารมวลชน มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และได้ยื่นสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก และผ่านการรับรองและเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารฯ แล้ว
หมวดที่ 4
สิทธิ และหน้าที่ของสมาชิก การดำรงสมาชิกภาพ
และการสิ้นสุดแห่งสมาชิกภาพ
ข้อ 7 สมาชิกทุกประเภทมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามระเบียบ ส.ส.ม.ท. โดยเท่าเทียมกัน เว้นแต่มีระเบียบกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ข้อ 8 สมาชิกทุกประเภทมีหน้าที่และต้องปฏิบัติตามระเบียบ และข้อบังคับของ ส.ส.ม.ท .
ข้อ 9 สมาชิกภาพของสมาชิก ย่อมสิ้นสุดเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับในข้อ 5
(4) เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย และคณะกรรมการบริหาร ส.ส.ม.ท. เสนอต่อการประชุมวิสามัญพิจารณามีมติให้ออก โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิก
ข้อ 10 สมาชิกทุกประเภทที่ลาออก ให้ถือว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงเมื่อเลขิการได้รับแจ้งลาออกดดยลานลักษณ์อักษร
ข้อ 11 สมาชิก มีหน้าที่ต้องเสียค่าบำรุง ส.ส.ม.ท. ดังนี้
(1) สมาชิกสามัญ ค่าสมาชิกตลอดชีพ 200 บาท ค่าสมาชิกรายปี ปีละ 100 บาท
(2) สมาชิกวิสามัญ ค่าสมาชิกตลอดชีพ 400 บาท ค่าสมาชิกรายปี ปีละ 100 บาท
(3) สมาชิกนักวิชาชีพสื่อมวลชน และสมาชิกสมทบ ค่าสมาชิกตลอดชีพ 400 บาท ค่าสมาชิกรายปี ปีละ 100 บาท
(4) ค่าสมาชิกนี้ยกเว้นเฉพาะสมาชิกกิตติมศักดิ์
หมวดที่ 5
การดำเนินงานของ ส.ส.ม.ท.
ข้อ 12 ให้คณะกรรมการบริหาร ส.ส.ม.ท. คณะหนึ่ง จำนวนไม่เกิน 20 คน ทำหน้าที่บริหารกิจการ ส.ส.ม.ท. ประกอบด้วยตำแหน่ง ดังนี้
(1) ประธาน
(2) รองประธาน คนที่ 1
(3) รองประธาน คนที่ 2
(4) เลขาธิการ
(5) เหรัญญิก
(6) นายทะเบียน
(7) กรรมการบริหาร
(8) ตำแหน่งอื่นๆ ที่คณะกรรมการบริหารฯ เห็นควรแต่งตั้ง
ข้อ 13 คณะกรรมการบริหารฯ ส.ส.ม.ท. มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
(1) ประธานเป็นผู้บริหารสูงสุด เป็นประธานการประชุม เป็นตัวแทนของ ส.ส.ม.ท. ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับหรือมติที่ประชุม
(2) รองประธาน มีหน้าที่กระทำกิจการแทนประธาน เมื่อประธานไม่อยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม รวมทั้งปฏิบัติงานที่ประธานมอบหมายให้กระทำแทน
(3) เลขาธิการ มีหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักงานดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และเป็นเลขานุการกรรมการบริหาร มีหน้าที่ในการจัดวาระและนัดหมายการประชุมสามัญ วิสามัญ และการประชุมของคณะกรรมการบริหาร จัดให้มีการบันทึกรายงานการประชุม ดูแลรักษาเอกสาร รวมทั้งทรัพย์สินต่างๆ ของ ส.ส.ม.ท.
(4) เหรัญญิก มีหน้าที่จัดทำบัญชี งานประมาณของ ส.ส.ม.ท. และลงลายมือชื่อรับจ่ายเงิน
(5) นายทะเบียน มีหน้าที่จัดทำระเบียนประวัติและทำเนียบสมาชิก
ข้อ 14 คณะกรรมการบริหาร ส.ส.ม.ท. ประกอบด้วยสมาชิกสามัญทั้งสิ้น
ข้อ 15 คณะกรรมการบริหาร ส.ส.ม.ท. อาจมีมติเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินกิจการของ ส.ส.ม.ท. ได้
หมวดที่ 6
คณะกรรมการบริหาร
ข้อ 16 การเลือกคณะกรรมการบริหาร ส.ส.ม.ท. ให้เลือกจากที่ประชุมของสมาชิกสามัญ ของ ส.ส.ม.ท. ที่มาร่วมประชุม โดยสมาชิกสามัญเท่านั้น ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน คนละ 1 เสียง
การเลือกคณะกรรมการการบริหาร ให้ที่ประชุมเลือกเฉพาะตำแหน่ง 6 ตำแหน่ง ดังต่อไปนี้
(1) ประธาน
(2) รองประธาน คนที่ 1
(3) รองประธาน คนที่ 2
(4) เลขาธิการ
(5) เหรัญญิก
(6) นายทะเบียน
สำหรับกรรมการบริหารอื่นๆ ให้คณะกรรมการบริหารที่ได้รับเลือก ทำการแต่งตั้งในที่ประชุมนัดแรกของคณะกรรมการบริหาร
ข้อ 17 การเลือกตั้งคณะกรรมการให้เลือกจากสมาชิกสามัญ โดยให้สมาชิกเสนอชื่อแต่ละตำแหน่ง และมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 5 คน และให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกตั้งโดยวิธีหย่อนบัตรลงคะแนนลับ
ข้อ 18 ประธาน ส.ส.ม.ท. วาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี การดำเนินตำแหน่งจะเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้ เว้นแต่ได้พ้นวาระหนึ่งแล้ว ย่อมมีสิทธิดำรงตำแหน่งได้อีก
ข้อ 19 กรณีตำแหน่งประธาน ส.ส.ม.ท. ว่างลงไม่ว่าสาเหตุใด และระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยังเหลืออยู่เกิน 180 วัน ให้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารฯทำการเลือกตั้งภายใน 30 วัน
ข้อ 20 ในกรณีตำแหน่งประธานว่างอยู่ ให้รองประธานคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานจนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานใหม่
ข้อ 21 คณะกรรมการบริหารฯ มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี กรณีตำแหน่งว่างลงไม่ว่าสาเหตุใด ๆ หากยังเหลือจำนวนกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ให้คณะกรรมการที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ
ข้อ 22 ให้คณะกรรมการบริหารฯ สามารถให้แต่งตั้งอนุกรรมการผ่ายต่างๆ เข้าหน่วยงานของคณะกรรมการบริหารฯ ได้ โดยอาจจะเลือกจากสมาชิกของ ส.ส.ม.ท. หรือบุคคลภายนอกก็ได้ และวาระการดำรงตำแหน่งเช่นเดียวกับกรรมการบริหารฯ
ข้อ 23 ประธานและคณะกรรมการบริหาร ส.ส.ม.ท. พ้นจากตำแหน่งโดย
(1) ออกตามวาระ
(2) ตาย
(3) ลาออก
(4) ขาดสมาชิกภาพ
(5) ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุมให้ออกจากตำแหน่ง
หมวดที่ 7
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร
ข้อ 24 คณะกรรมการบริหาร ส.ส.ม.ท. มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) บริหารกิจการของ ส.ส.ม.ท. ตามวัตถุประสงค์และข้อบังคัล
(2) วางระเบียบต่างๆ เพื่อประโยชนการดำเนินงานของ ส.ส.ม.ท. เท่าที่ไม่ขัดกับข้อบังคับนี้
(3) ระเบียบวาระการรับสมาชิกประเภทต่างๆ
(4) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ตามข้อ22
(5) กำกับดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ และคำสั่ง
(6) เสนอแผนงาน และงบประมาณประจำปีต่อกรรมการมูลนิธินักวิชาการสื่อมวลชนไทย
(7) เสนอแผนการขอรับการสนับสนุนจากบุคคลและสถาบันภายนอกประจำปีต่อคณะกรรมการมูลนิธิวิชาการสื่อสารมวลชนไทย
(8) รายงานการดำเนินประจำปี และงบดุลประจำปีต่อคณะกรรมการมูลนิธินักวิชาการสื่อสารมวลชนไทย
หมวดที่ 8
การประชุม
ข้อ 25 การประชุมของ ส.ส.ม.ท. กำหนด ดังนี้
(1) การประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.ส.ม.ท. ไม่น้อยกว่าปีละ 6 ครั้ง
(2) การประชุมสามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ตามกำหนดวันและเวลาที่คณะการบริหารเห็นชอบ
(3) การประชุมวิสามัญ ตามที่คณะกรรมการบริหารเห็นชอบ หรือ สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า20 คน เข้าชื่อร้องขอให้มีการจัดประชุม
องค์ประชุมของการประชุมสามัญและการประชุมวิสามัญของ ส.ส.ม.ท. จะต้องมีสมาชิกประเภสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด.
วาระการประชุมสามัญมีดังนี้
(1) เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
(2) รับรองรายงานประชุม
(3) แถลงกิจการ
(4) รับรองงบการเงิน
(5) แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี
(6) เลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร
(7) เรื่องอื่นๆ
หมวดที่ 9
การเงิน
ข้อ 26 ให้เหรัญญิกเป็นผู้ควบคุมดูแลการเงินของ ส.ส.ม.ท. โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบด้วยการเงินของ ส.ส.ม.ท. อย่างเคร่งครัด
ข้อ 27 ประธาน ส.ส.ม.ท. หรือรองประธานในกรณีที่ทำหน้าที่แทน มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้คราวละไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) และเดือนหนึ่งไม่เกิน 300,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) เว้นแต่กรณีจำเป็นและเร่งด่วน ให้อยู่ในดุลพินิจของประธาน ส.ส.ม.ท. ที่จะอนุมัติให้จ่ายได้ และต้องรายงานให้คณะกรรมการบริหารทราบในการประชุมคราวต่อไป
ข้อ 28 เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) แต่ทั้งนี้ไม่ให้เกินเดือนละ 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) หรือโดยมติคณะกรรมการบริหาร
ข้อ 29 เงินสดของ ส.ส.ม.ท. หรือเอกสารสิทธิ ต้องนำฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันอื่นใดที่รัฐบาลให้การค้ำประกัน แล้วแต่คณะกรรมการบริหารจะเห็นสมควร
ข้อ 30 การใช้จ่ายเงินโดยเช็คหรือตั๋วสั่งจ่ายเงิน จะต้องมีลายมือชื่อของประธาน ส.ส.ม.ท. หรือ รองประธาน กับเลขาธิการหรือเหรัญญิกลงนามทุกครั้ง จึงจะเบิกจ่ายได้
ข้อ 31 การถอนเงินจากธนาคาร หรือสถาบันการเงินทุกครั้งจะต้องมีลายมือชื่อของประธาน หรือ รองประธาน ร่วมกับเลขาธิการหรือเหรัญญิกในใบสำคัญการเบิกเงิน
ข้อ 32 ให้คณะกรรมการบริหารวางระเบียบเกี่ยวกับการเงินและบัญชีของ ส.ส.ม.ท. ตลอดจนกำหนดอำนาจหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับรับและจ่ายเงินนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
ข้อ 33 ให้คณะกรรมการบริหารกำหนดรอบระยะเวลาบัญชี และจัดทำรายงานสถานะทางการเงินของ ส.ส.ม.ท. ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาเสนอต่อที่ปรุชุมสามัญประจำปี
ข้อ 34 ให้เหรัญญิกรายงานสถานะทางการเงินของ ส.ส.ม.ท. ต่อคณะกรรมการบริหารทุกครั้งที่มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร
หมวดที่ 10
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
ข้อที่ 35 การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของ ส.ส.ม.ท. ให้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารโดยผ่านความเห็นที่ประชุมสามัญ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนุ่งของจำนวนสมาชิกประเภทสามัญที่มาประชุม
ข้อที่ 36 วิธีการแก้ไขข้อบังคับและระเบียบต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ ส.ส.ม.ท. กำหนดไว้
บทเฉพาะกาล
ข้อที่ 37 หลังการประกาศให้ข้อบังคับฯ ให้ยกเว้นการใช้ข้อบังคับ ข้อ 11 ว่าด้วยค่าบำรุง ส.ส.ม.ท. เป็นเวลา 1 ปี
ประกาศ ณ วันที่ 27 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552
(รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัตน์ เมธีกุล)
ประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย